ทริปเล็กๆหลบร้อนแลใต้ วันฟ้าใสทะเลสวย

ออกเดินทางจากโคราช 16.30 น.ของวันที่3 เมษยน   โดยรถทัวร์ปิยะรุ่งเรืองโคราช-หาดใหญ่ ถึงบริษัทขนส่งหาดใหญ่ วันที่4เมษายน   เวลา 9.45 น.ท่ามกลางกระแสข่าวคาร์บอมที่หาดใหญ่ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ยังทำมาหากินปกติ บรรยากาศที่ตัวเมืองหาดใหญ่วันนี้ คึกคักด้วยเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจตรวจเข้มคนเดินทาง รถทุกคันกระเป๋าทุกใบถูกตรวจหมดเพื่อความปลอดภัย พื้นที่เกิดเหตุยังถูกกันไว้เพื่อการสอบสวน  เดินทางถึงปาดังเบซาร์ 11.00น โดยรถตู้โดยสาร ปาดังเบซาร์วันนี้ไม่คึกคักเหมือนเมื่อ15-20ปีก่อน เพราะพื้นที่ผ่อนปรนเพื่อขายสินค้า (โนแมนแลนค์ระหว่าง2ประเทศถูกปิด) ชาวบ้านในพื้นที่ไปมาหาสู่กันยากขึ้น พื้นที่ด้านในจนถึงตลาดแขกในประเทศมาเลย์ก็เงียบเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เข้าซื้อของได้ที่ร้านdutyfree ร้านthe zon ใกล้ด่านศุลกากรไทยครับ ของถูกกว่าที่ตลาดกิมหยงไม่มากนัก คงหวังการเปิดอาเซียน 2558 ชายแดนแห่งนี้น่าจะคึกคักอีกครั้ง วันนี้เข้าที่พักปาดังเบซาร์ รุ่งขึ้น เยี่ยมชมสะพานป๋าเปรม สะพานติณ สะพานเปรม ตามที่ชาวบ้านเรียกครับ เป็น สะพานข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุด สะพานติณสูลานนท์  นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.สงขลา สร้างขึ้นในสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ซึ่งมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานาน ทั้งเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็ยังทำให้การจราจรติดขัดในตัวเมืองอีกด้วย ในปี พ.ศ.2524 รัฐบาลจึงมีนโยบายจะพัฒนาสงขลา และหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลัก โดยกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัทจากประเทศไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง สะพานแห่งนี้ได้เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2527   สะพานติณสูลานนท์ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 4083 (ระโนด-เขาแดง) กับทางหลวงหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่) สะพานแบ่งเป็น 2ช่วง โดยเชื่อมเกาะยอทั้ง 2 ด้าน ช่วงแรกเชื่อมระหว่างชายฝั่ง บ้านน้ำกระจาย อ.เมืองสงขลา กับตอนใต้ของเกาะยอ และช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างตอนเหนือของเกาะยอกับชายฝั่ง บ้านเขาเขียว อ.สิงหนคร ความยาวของสะพาน 940 เมตร และ 1,700 เมตร ตามลำดับ รวมทั้งสองตอนมีความยาวทั้งสิ้น 2,640 เมตร นับเป็นสะพานคอนกรีตข้ามทะเลสาบที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

  ถึงเกาะยอซื้อของฝากผ้าทอและอาหารทะเลอันเลื่องชื่อ เกาะยอ เป็นเกาะเพียงเกาะเดียวในทะเลสาบสงขลาตอนล่าง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองสงขลามีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ 15ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4,000 คน แบ่งเป็น9 หมู่บ้าน มีองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ เป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ในการพัฒนาตำบลในด้านต่าง ๆ การเดินทางมายังเกาะยอมีสะพานติณสูลานนท์ 2ช่วง เชื่อมเกาะยอกับฝั่ง อ. เมืองสงขลา และ อ.สิงหนครภายในเกาะยอมีถนนราดยางรอบเกาะยอ พื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาะยอเป็นภูเขาไม่สูงนัก มีที่ราบเชิงเขาติดทะเล และมีที่ราบกว้างทางตอนใต้ของเกาะยอเกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอ มีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะยอคือ จำปาดะ ลักษณะคล้ายขนุนแต่ลูกเล็กกว่า สามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะกินสดก็ได้ และผ้าทอเกาะยอ เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย นอกจากนั้นเกาะยอยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลาอีกด้วยชาวเกาะยอส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนผลไม้ อาชีพประมงและอาชีพทอผ้าพื้นเมือง เกาะยอมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งชุมชนเกาะยอยังมีประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่สืบทอดกันมานาน เช่น ประเพณีแห่หมรับเรือนสิบและประเพณีขึ้นเขากุฏซึ่งถือเป็นทุนทางสังที่ทำให้ ชุมชนเกาะยอเป็นชุมชนที่เข้มแข็งน่าอยู่ มาก

ขึ้นจากเกาะยอประมาณ15นาที ถึงถนนเลียบหาดสมิหลา ถึงเขาตังกวน" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต บนยอดเขาตังกวน เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่ เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารดี โดยรัชกาลที่ 4 และใน รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้มาบรรจุในองค์พระเจดีย์ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์พระเจดีย์ประเพณี ลากพระและตักบาตรเทโว และบนยอดเขายังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้ และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ)  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวาย เทศบาลนครสงขลา สร้าง ลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546
ค่าบริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท เบอร์โทรศัพท์สถานนีลิฟท์เขาตังกวน074-316-330 มีบริการถ่ายรูปที่ระลึกก่อนขึันลิฟท์ เหมือนบึงฉวากที่สุพรรณบุรี ขึ้นเขาตังกวนเห็นทัศนยภาพตัวเมืองสงขลา หาดสมิหลา เกาะหนูเกาะแมวตามตำนาน

หาดสมิหลา อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตลาดทรัพย์สิน (ตลาดสดเทศบาล) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวสนอันร่มรื่น บริเวณชายหาดจะมีรูปปั้นนางเงือกอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยรูปปั้นแมวและหนูที่บอกเล่าตำนานของเกาะหนูเกาะแมว โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ดูร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น มีทางวิ่งออกกำลังกาย รวมทั้งจุดชมวิวที่มีทิวทัศน์ของ เกาะหนูเกาะแมว เป็นฉากหลัง ริมหาดมีจุดบริการฟรีไวไฟ อินเตอร์เนตความเร็วสูงหลายจุดครับ  มองจากหาดสมิหลาจะเห็น          เกาะหนูเกาะแมว เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของแหลมสมิหลา ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็น ประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมวลงเรือไปเมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนาน ๆ เกิดความเบื่อหน่าย จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วยทั้งสามว่ายน้ำหนีลงจากเรือโดยที่ หนูอมดวงแก้วเอาไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไปจึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจมหายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็น "เกาะหนูเกาะแมว" อยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อย และกลายเป็นหินบริเวณ "เขาตังกวน" อยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูแตกละเอียดกลายเป็น "หาดทรายแก้ว" อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสน ออกจาแหลมสมิหลากลับเส้นทางเดิมข้ามเกาะยอ ไปถนนสายหาดใหญ่-ตรัง  วันนี้ฝนตกตลอดทางผ่านเขาพับผ้า  ถึงตัวเมืองตรัง ผ่านอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ผู้นำยางพาราต้นแรกมาปลูกในประเทศ จุดเด่นของเมืองตรังนอกจากหมูย่างแล้ว น่าจะเป็นโรงแรมเรือรัษฎานี่แหละสวยหรูมากค่าพักไม่แพงครับห้องสูทเพียงคืนละ 6400 บาทครับ

ถึงหาดปากเมงเวลา 17.30 น. ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตก เข้าที่พัก ที่057 รีสอร์ท ไม่แพงครับเจ้าของใจดีคืนละ 650 บาท/1ห้อง หาดปากเม็งตั้งอยู่ที่ ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง อยู่ในการดูแลของ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ห่าง จากตัวเมือง 40 กิโลเมตร ลักษณะเป็นชายหาดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ความยาว 5 กิโลเมตร สวยงาม เงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน เล่นน้ำ ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ชิมอาหารทะเลสด ๆ เลิศรส พระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ลาลับขอบฟ้า ณ เขาเมง หรือ เกาะเมง สัญลักษณ์ประจำ หาดปากเมง โขดเขาใหญ่กลางน้ำรูปร่างคล้ายคนนอนหงายทอดตัวยาวไปทางด้านเหนือ มุมที่สวยที่สุดของปากเม็งครับ ท่าเรือปากเม็งเป็นที่เช่าเรือเที่ยวเกาะต่างๆโดยรอบอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมครับ มีเรือหลายขนาดหลายราคาครับเลือกเอาตามสะดวก ทริป 4เกาะ1 วัน  เกาะมุกถัำมรกต เกาะเชือกเกาะม้า เกาะกระดาน  เกาะไหง เขัาถึงน่านน้ำกระบี่ เกาะลันตา รุ่งขึ้น เดินทางจากที่พักไปท่าเรือปากเม็งเพื่อจ้างเหมาเรือ เที่ยวเกาะ




 นั่งเรือประมาณ 50 นาทีถึงถ้ำมรกต เกาะมุก อำเภอกันตัง จ.ตรัง  วันนี้พยากรณ์อากาศว่ามีฝนตก แต่มีแดดทั้งวันถ้ำมรกตสวยมากนี่ขนาดปลายฤดูท่องเที่ยว (เราเคยดูแต่ในรายการทีวี หรือในยูทูป) ทีนี่ยังมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่ เกาะมุกนับเป็นจุดเด่นที่สุดในทะเลตรัง ลักษณะของเกาะทางด้านทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นโขดหน้าผาหินสูงตระหง่านหันหน้า ออกสู่ทะเล ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ที่ยังคงวิถีชีวิตของชาวเกาะไว้อย่างดีสามารถเดินเที่ยวรอบเกาะได้ และไม่ห่างจากเกาะมุกมีถ้ำมรกตหรือถ้ำทะเลซึ่งมีความงดงามตระการตาอย่างมาก จากปากทางเข้าถ้ำเป็นโพรงเล็กๆ สูงพ้นระดับน้ำพอเรือลอดได้ หรือต้องว่ายน้ำเข้าไปถ้าหากน้ำมาก ระยะทาง 80 เมตร บริเวณปากทางเข้าถ้ำแสงจากภายนอกจะสะท้อนกับน้ำภายในถ้ำทำให้เห็นน้ำเป็นสี เขียวมรกต ดูแปลกตาและมหัศจรรย์ในความสวยงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้าง เมื่อพ้นปากถ้ำออกมาอีกด้านหนึ่งจะเห็นหาดทรายขาวสะอาดล้อมรอบด้วยหน้าผาสูง ชัน นั่งเล่นน้ำได้

        นั่งเรือสักพักใหญ่ก็ถึง เกาะเชือก เป็นเกาะเล็กๆ ทั้งสามเกาะอยู่ในวงล้อมของเกาะมุก และเกาะกระดาน เป็นเกาะสัมปทานรังนกทั้งสามเกาะ ห่างจากเกาะไหงประมาณ 4 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นโขดหิน แหละหน้าผาหินสูงชัน ไม่มีชายหาด หรือบ้านเรือนของผู้คน และชาวประมงอาศัยอยู่บนเกาะทั้งสาม นอกจากมีกระท่อมของคนเฝ้ารังนกปลูกเรียงรายบนโขดหินรอบตัวเกาะ บริเวณรอบเกาะทั้งสามเป็นแหล่งดำน้ำ ชมปะการังชนิดต่างๆ มีทั้งดงปะการังน้ำตื้น และน้ำลึกรายรอบ มีฝูงปลาทะเลสีสันสวยงามนานาชนิด เช่น ปลานกแก้ว ปลาโนรี ปลาสินสมุทร ปลาลายเสือ ฯลฯ 

  เกาะกระดาน เป็นเกาะที่สวยเกาะหนึ่งของจังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ600 ไร่ ซึ่ง 5 ใน 6 ส่วนของเกาะนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ อุทยานหาดเจ้าไหมที่เหลือเป็นสวนยางและสวนมะพร้าวของเอกชน รวมทั้งร้านอาหารและที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จุดเด่นของเกาะกระดานคือ ชายหาดที่มีทรายขาวละเอียดเหมือนแป้ง  และน้ำใสจนมองเห็นแนวปะการังซึ่งทอดยาวจากชายหาดด้านเหนือถึงชายฝั่ง และมีฝูงปลาหลากสีแหวกว่ายอย่างสวยงาม สำหรับผู้นิยมการโต้คลื่นด้านหลังเกาะมีอ่างเล็กๆ มีคลื่นลูกโตๆ สาดม้วนเข้าหาหาดเป็นระลอกๆ เหมาะสำหรับเล่นกระดานโต้คลื่น เกาะกระดานอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมุกและเกาะลิบง รอบเกาะมีชายหาดอยู่ 4 แห่ง เกาะกระดานจึงเป็นเกาะที่สวยที่สุดของทะเลตรัง ที่มีเกาะอื่นรายรอบเป็นบริวาร ชายหาดเป็นทรายขาวละเอียด น้ำใส จนมองเห็นริ้วทรายใต้พื้นน้ำ สุดชายหาดด้านเหนือ มีแนวปะการังทอดยาวออกไปในทะเล บริเวณชายฝั่งเป็นปะการังน้ำตื้น สถานที่จัดงานวิวาห์ใต้สมุทรที่ด้งไปทั่วโลกครับ ที่นี่มีรีสอร์ทที่พักเอกชนให้พัก ราคาอาหารตามราคาแบบเกาะๆครับ (กาแฟแก้วละ100บาท เบียร์สิงห์เล็ก 150บาท)

 

เกาะม้า ตั้งอยู่ระหว่างเกาะมุกและเกาะไหง เป็นเกาะเล็ก ๆ ลักษณะเป็นเขาหินปูน เป็นเกาะหนึ่งในทะเลตรัง สัญลักษณ์ที่เรียกเกาะม้านี้ก็คือ ภูเขาที่ยื่นออกมาซึ่งมีลักษณะคล้ายหน้าม้า บริเวณเกาะม้านี้เป็นที่อยู่ของสัตว์บกบางชนิด ได้แก่ค้างคาวแม่ไก่ และก็สัตว์น้ำทั่ว ๆ ไป เกาะนี้นักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำดูปะการัง และชมปลาใต้น้ำปลาบริเวณนี้ได้แก่ ปลาเมโม ปลาลายเสือ ปลานกแก้ว และ จุดเด่น ที่เกาะม้าแห่งนี้ได้รับความนิยมจากบรรดานักดำน้ำเป็นอย่างมากคือ ที่นี่เป็นแหล่งปะการังเจ็ดสี กัลปังหา ดอกไม้ทะเล และ ปะการังเขากวาง ซึ่งที่เกาะม้าถือเป็นจุดดำน้ำที่สวยที่สุดของทะเลตรังจุดหนึ่ง เรือกลับเข้าท่าปากเม็งเวลา เกือบ18.00 น. วันนี้ล่องน้ำตื้นเขินผิดปกติครับ เรือติดหล่มโคลนเสียเวลาอยู่นาน ต้องเกณฑ์คนอ้วน4-5คนเหยียบหัวเรือ เรือจึงแล่นได้ เข้าที่พัก ที่เกาะลันตาใหญ่ เวลา 21.00น.โดยประมาณ

 

รุ่งขึ้นไปเยี่ยมชมสระมรกต ซึ่งอยู่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ห่างจากเกาะลันตาประมาณ 30 กิโลเมตร วันนี้นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากเพราะเป็นช่วงปิดเทอม ซื้อตั๋วเดินเท้าเข้าไปประมาณ1 กิโลเมตร ถึงสระมรกต ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ สระมรกตกำเนิด มาจากธารน้ำอุ่น ในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ เป็นน้ำพุร้อนลักษณะเป็นสระน้ำร้อน 3 สระได้แก่ สระแก้ว สระมรกต และ สระน้ำผุด น้ำใสเป็นสีเขียวมรกต มีอุณหภูมิประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส รอบๆ บริเวณเป็นป่าร่มรื่นเขียวครึ้มมีพรรณไม้ที่น่าสนใจ รวมทั้งนกที่หาดูได้ยากเช่น นกแต้วแร้วท้องดำ นกกระเต็นสร้อยคำสีน้ำตาล และนกเงือกดำ โดยมีมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทีนา โจลิฟฟ์ (ทุ่งเตียว) ซึ่งตั้งชื่อตามคุณทีนา โจลิฟฟ์ ชาวอังกฤษ ผู้ริเริ่มความคิดที่จะรักษาอนุรักษ์ป่าดิบชื้นผืนนี้ไว้ไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อเป็นการระลึกถึงความตั้งใจและเป็นอนุสรณ์สำหรับคุณทีนา จึงตั้งชื่อเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติทีนา โจลิฟฟ์ (ทุ่งเตียว) เส้นทางเดินศึกษานี้มีระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายที่จะคอยบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ในป่าให้นักเดินทางได้ศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ก่อนถึงสระมรกตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บาง คราม ประมาณ 800 เมตร เส้นทางจะผ่านผืนป่าเล็ก ๆ ซึ่งเป็นป่าที่ราบต่ำที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยทางภาคใต้ของประเทศไทย เส้นทางนี้จะแสดงลักษณะของป่าดิบชื้นที่ราบต่ำอย่างแท้จริง ภายหลังได้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางครามขึ้น  บรรยากาศดีมาก (ภาพไม่ได้นำมาฝากส่วนใหญ่เป็นภาพครอบครัว )

สระน้ำผุด
มีสะพานไม้กว้างประมาณ 1 เมตร เดินประมาณ 600 เมตร ไปดูต้นกำเนิดสระมรกต เป็นบ่อน้ำที่มีความใสสะอาด ที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำซับเหล่านี้มาจากภูเขาหินปูน จึงทำให้น้ำมีสารละลายของแคลเซียมคาร์บอเนต
(CaCO3) ทำให้สารแขวนลอยในน้ำตกตะกอนได้ง่าย และที่เห็นน้ำผุดตลอดเวลาคล้ายน้ำเดือด
อันเนื่องมาจากก้นบ่อมีรอยแยกของเปลือกโลก
ซึ่งภายใต้เปลือกโลก มีของเหลวที่มีความร้อนเรียกว่า
แมกมา (magma) ความร้อนจากของเหลงนี้ระเหย
 
มาทางรอยรั่วของเปลือกโลก ทำให้เราเห็นน้ำผุดตลอดเวลา “สระน้ำผุด” มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยโบราณชาวบ้านมีความเชื่อว่า เป็นสระที่นางกินรีลงเล่นน้ำ สระน้ำผุดเป็นสระน้ำขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เมตร เกิดจากน้ำใต้ดินที่พุ่งขึ้นมาบนผิวโลก ผ่านรอยแตกของพื้นดิน(ตาน้ำ) ขึ้นมารวมกันเป็นสระน้ำ
ขนาดเล็กกลางป่า และเป็นธารน้ำลงสู่สระมรกต น้ำในสระที่เห็น

มีสีน้ำเงินคราม เพราะเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุต่างๆ หลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต, แมกนีเซียม, แมงกานีส

และ กำมะถัน เป็นต้น ทำให้เรามองเห็นน้ำในสระเป็นสีน้ำเงินคราม


  

ขอบคุณข้อมูลจาก ททท.

th.wikipedia.org

เจ้าหน้าทีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประบางคราม

แก้ไขล่าสุด (วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 16:26 น.)