แอ่วเชียงคาน.วันที่พระอาทิตย์ตื่นสาย


 

ไปเลย..มาเลย..เที่ยวเชียงคาน(เชียงคานเมืองพันปี)วันนี้มีโอกาสได้มาเที่ยวเมืองเชียงคาน จังหวัดเลย ถนนหนทางไปมาสะดวกมาก ไปได้หลายทาง รถโดยสารโคราช-เชียงคานมีวิ่งทุกวันครับ ที่สะดวกมากน่าจะเป็นถนนมิตรถาพไปขอนแก่น-ขุมแพ -หนองเรือ-ผ่านอุทยานภูผาม่าน-ผานกเค้า-ปากปวน-เมืองเลย-ไปเชียงคานประมาณ 50 กิโลเมตร วันนี้พยากรณ์พายุเชนีก่อตัวเวียดนาม ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากที่ 8 จังหวัดอีสานตอนบน โชคดียังไม่มีฝน อากาศครึ้มทั้งวันครับ ถึงแก่งคุดคู้เข้าที่พัก ประมาณ11โมง เชียงคานฮิลล์รีสอร์ท ไม่แพงครับ ประมาณ800.บาท/ห้อง เตียงคู่ มีให้เลือกหลายราคา ช่วงนี้น้ำหลากมองไม่เห็นแก่งคุดคู้ น้ำโขงสีขุ่นน้ำตาลแดง บรรยากาศโดยรอบดีมาก อากาศเย็นสบาย งบสงบ  ไหนๆก็มาแล้วก็ไม่ลืมที่จะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝาก ต้องขอบคุณการท่องเที่ยวจังหวัดเลย และท้องถิ่นอำเภอเชียงคาน ที่ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเมืองเชียงคาน ซึ่งมีความเป็นมา ดังนี้ครับ เมืองเชียงคานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศลาว ซึ่งสร้างโดยขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็น เมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้งเมืองเชียงคาน

เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อันเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย และได้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทยโดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมือง นครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงค์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจาก ฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุลเครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของ แม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก

 

ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอ เชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคานหรืออำเภอเชียงคาน ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของเชียงคานคือแก่งคุดคู้ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 5 กิโลเมตร

 ตำนานเกี่ยวกับแก่งคุดคู้ นานมาแล้วมีนายพรานชาวลาวคนหนึ่งชื่อตาจึ่งคึง นายพรานผู้นี้มีรูปร่างสูงใหญ่ มีจมูกสีแดงใบโต ซึ่งรูจมูกนั้นกว้างมากในยามที่ตาจึ่งคึงนอนหลับเด็กๆได้แอบเข้าไปเล่นสะบ้า ในรูจมูก จึงมีคำกล่าวเป็นภาษาเลยว่า “จึ่งคึงดังแดง นอนตะแคงจุฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง”

ตาจึ่งคึงเป็นผู้มีความสามารถในการล่าเนื้อป่า(สัตว์ป่า)และเนื้อน้ำ(สัตว์ น้ำ) ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เลื่องลือไปไกลในทั่วสารทิศ บ่ายวันหนึ่งในขณะที่ตาจึ่งคึงกำลังหาปลาอยู่ริมแม่น้ำโขงได้แลไปเห็นควาย เงินตัวใหญ่มากินน้ำอยู่ฝั่งตรงข้าม ด้วยความปรารถนาที่อยากจะกินเนื้อควายสีเงินตัวนี้ ตาจึ่งคึงจึงซุ่มดักยิงควายเงินอยู่ที่พุ่มไม้ริมน้ำ ในระหว่างที่เขากำลังเหนี่ยวไกลปืนได้มีเรือสินค้าแล่นมาจากทางใต้ ควายเงินเห็นเรือสินค้าเกิดตกใจวิ่งหนีเข้าป่า ตาจึ่งคึงจึงยิงพลาดเป้า ด้วยความโกรธพ่อค้าที่เป็นเหตุให้เขาไม่สามารถล่าควายเงินได้ ตาจึ่งคึงจึงยิงปืนไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งลาวเพื่อระบาย ความโกรธ ด้วยความแรงของกระสุนปืนทำให้ยอดเขานั้นขาดหวิ่นไป ซึ่งในเวลาต่อมาภูเขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาแบ่น” และหมู่บ้านในฝั่งไทยที่อยู่ตรงข้ามก็ถูกเรียกว่า “บ้านผาแบ่น” (แบ่น หมายถึง เล็ง)
ไม่เพียงเท่านี้ตาจึ่งคึงได้หาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่รบกวนการล่าสัตว์ ของเขา โดยตาจึ่งคึงได้นำก้อนหินจากภูเขามากั้นลำน้ำไว้ เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงคิดว่าถ้าหากตาจึ่งคึงนำหินมากั้นน้ำโขงได้สำเร็จคง จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนและสัตว์ที่อาศัยน้ำโขงในการดำรงชีพและเป็น เป็นเส้นทางสัญจรไปมา เณรน้อยจึงได้ออกอุบายให้ตาจึ่งคึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานใช้ในการหาบก้อน หิน เพราะการทำเช่นนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าถือหินไปที่ละก้อน ตาจึ่งคึงหลงเชื่อกลอุบาย จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คานหาบก้อนหิน ในระหว่างที่หาบไปนั้นไม้คานเกิดหัก ความคมของไม้คานซึ่งเป็นไม้ไผ่ได้บาดคอตาจึ่งคึงถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึงนอนตายในลักษณะคุดคู้ บริเวณที่เขานำก้อนหินมากั้นน้ำไว้จึงได้ชื่อว่า “แก่งคุดคู้”
ส่วนควายเงินในเวลาต่อมาได้ตายลงชาวบ้านได้นำเนื้อส่วนหนึ่งมาผ่าแบ่งกัน บริเวณที่ชาวบ้านนำเนื้อควายมาผ่าแบ่งกันนั้นได้ชื่อว่า “ห้วยน้ำปาด”(ปาด หมายถึง ผ่าหรือตัด) อยู่ในเขตอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ส่วนซากควายเงินทีเหลือนั้นได้กลายเป็นภูเขาใหญ่อยู่บริเวณทางทิศใต้ของแก่งคุดคู้มีชื่อว่า “ภูควายเงิน” สูงตระหง่านอยู่ด้านหลังแก่ง

ถนนคนเดินเชียงคาน ถ้าไม่เดินที่นี่ว่ากันว่าคงไม่ถึงเมืองเชียงคานแน่ๆ มีสินค้าจำนวนหลากหลายมากมายทั้งด้านงานศิลปะพื้นเมือง ร่วมสมัย เสื้อผ้าพื้นเมือง ของฝากที่ระลึก และที่ขาดไม่ได้เป็นที่ติดอกติดใจนักท่องเที่ยวก็คือ อาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ยากแต่มีให้เลือกมากมายได้ที่นี้ ซึ่งอาหารส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารจานหลัก แบบเมนูอาหารตามสั่งและอาหารพื้นเมือง ร้านแผงลอยที่ออกมาวางขายซ้ายขวาตามริมฝั่งสองข้างถนนคนเดินเชียงคาน อาหารอร่อยอาทิเช่น ข้าวเปียกเส้น เมี่ยงคำ ผัดไทยกุ้งสด ไข่ปิ้ง โจ๊ก ขนมจีน ยำแหนมคลุก ข้าวจี่ กุ้งทอด ไอติมโบราณ ซาลาเปาปุยฝ้าย ข้าวเกรียบว่าว ขนมปังสังขยา ชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำขิง นมสด ขนมทองม้วน มะขามกวน และอีกมากมายที่ไม่สามารถเอ่ยมาได้หมด ไม่ต้องกลัวว่ามาเที่ยวเชียงคานครั้งนี้จะต้องเตรียมอาหารสำรองมาด้วย ใครชอบแบบไหน อยากกินอะไรก็เลือกกันได้ตามใจชอบเพราะมีความหลากหลายจนนักท่องเที่ยวเดิน ชิมก็คงจะไม่ครบหมดทุกร้าน มีคลิปเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงคานมาฝากครับ ขอบคุณเมืองไทยดอทคอมครับ

ขอบคุณ wikimedia.org/wiki/และการท่องเที่ยวจังหวัดเลย

แก้ไขล่าสุด (วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 16:43 น.)